ฟังบทความนี้ในรูปแบบเสียงที่ IndyBook’s Podcast


ในบทหนึ่งของหนังสือพื้นฐานธุรกิจ
เขียนโดย ธนภัทร รุ่งธนาภิรมย์ โดยสำนักพิมพ์ Earn Concept

ผู้เขียนได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างผู้ประกอบการ (Entrepreneur) และ ผู้จัดการ (Manager) ซึ่งผมขออนุญาตสรุปใจความสำคัญและใส่ความคิดเห็นของตัวเองไว้บางประการดังนี้

คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าคนที่เรียนจบการบริหารธุรกิจหรือ MBA จะสามารถเป็นเจ้าของกิจการและสามารถก่อตั้งธุรกิจได้โดยอัตโนมัติ

อันที่จริงผู้จัดการ (Manager) และผู้ประกอบการ (Entrepreneur) มีความแตกต่างเป็นอย่างมากเลยทีเดียว การเป็นผู้จัดการจะใช้ทักษะเพื่อทำงานให้ผู้อื่น ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากหลักสูตร MBA ส่วนผู้ประกอบการนั้นทำงานให้ตัวเองซึ่งต้องอาศัยความรู้จากแหล่งอื่นนอกเหนือจากหลักสูตร MBA

การเป็นผู้ริเริ่มกิจการหรือผู้ประกอบการนั้นเป็นเรื่องของ วิธีคิด สภาพจิตใจเสียส่วนใหญ่
ถ้าคุณสมบัติที่จะกล่าวต่อไปนี้ตรงกับคุณ แสดงว่าคุณน่าจะเป็นผู้ประกอบการ แต่ถ้าส่วนใหญ่ไม่ค่อยตรงแสดงว่าคุณอาจไม่เหมาะกับการเป็นผู้ประกอบการครับ

วิธีคิดแบบผู้ประกอบการ
(Entrepreneur’s Mindset)

  1. มีแนวคิด ไอเดียธุรกิจ หรือวิสัยทัศน์บางอย่างขึ้นมาได้ มีความเชื่อมั่นอยากทำให้ไอเดียเป็นจริง
  2. มีความคิดริเริ่มที่จะทำบางสิ่งด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมอบหมายให้ เป็นแรงจูงใจที่มาจากภายใน
  3. สามารถทำงานหนักแม้ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ (หรือหลายกรณีอาจต้องจ่ายเงินลงทุนเองด้วยซ้ำ)
  4. รักอิสระ ไม่ชอบทำงานภายใต้คำสั่งของผู้อื่น
  5. สามารถทำงานให้บรรลุตามที่ตั้งใจไว้
  6. มีเวลาให้กับกิจการอย่างเต็มที่
  7. รับความเสี่ยงได้มาก
  8. มีวินัยเรื่องการเงินโดยเฉพาะการกู้ยืมเงินจากผู้อื่น
  9. มีความเป็นผู้นำสูง เช่นรู้สึกว่าสามารถโน้มน้าวคนอื่นให้คล้อยตามได้ไม่ยาก
  10. มีความเป็นอาจารย์ เพราะต้องอธิบายหรือถ่ายทอดไอเดียของตนให้คนอื่นเข้าใจได้
  11. ชอบคิดรอบด้าน สามารถคิดถึงกรณีเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในธุรกิจของตน และหาวิธีหลีกเลี่ยงหรือป้องกันเบื้องต้น

การเป็นผู้ประการจะเกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจโดยตรง เช่นการทำงานหนักแม้ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ หรือต้องลงทุนไปก่อน การมอบหมายงานให้ตัวเองและทำจนบรรลุผล ไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่ายนัก ต้องอาศัย ทัศนคติ ความอดทน และความมีวินัยเป็นอย่างมาก

สิ่งที่แย่ไปกว่านั้นเช่น จะทำอย่างไรถ้าเงินที่ลงทุนไปนั้นสูญปล่าว? เมื่อไหร่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จ? จะทำต่อไปหรือจะเลิกตอนไหนดี? ผู้ประกอบการต้องต่อสู้กับคำถามเหล่านี้อยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งต่างจากผู้จัดการที่ได้รับเงินเดือนอย่างสม่ำเสมอ ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิดพลาดร้ายแรงจริง ๆ

ทักษะการเป็นผู้ประกอบการจึงไม่ใช้ทักษะที่มีจะสอนหรือมีในหลักสูตร MBA ทั่วไป เพราะต้องใช้ทักษะภายในจิตใจ และการเรียนรู้นอกตำรา

ในโลกนี้มีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ในขณะเดียวกันก็มีลูกจ้างที่ประสบความเสร็จและล้มเหลวเช่นกัน จงเลือกในสิ่งที่เหมาะกับตัวเองตรงกับจริตหรือแม้แต่จังหวะชีวิตของตัวเอง

อย่างไรก็ตามถ้าคุณต้องการเป็นผู้ประกอบการ คุณก็สามารถทดลองทำมันได้ เพราะทักษะทุกอย่างก็สามารถฝึกฝนได้ถ้าคุณต้องการมัน