ฟังในรูปแบบ Podcast กับ Indybook Podcast


เขียนโดย ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์
(เจ้าของเพจ Trick of the Trade)

เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงที่ไม่เล็กตามหนังสือ เป็นภาพรวมที่คนทำธุรกิจหรือกำลังจะเริ่มธุรกิจต้องเจอ เปรียบเสมือนแผนที่ทางภูมิศาสตร์ที่ช่วยนำทางสำหรับคนมาใหม่ แม้จะไม่ใช้ตำรา How to สอนวิธีการทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เพราะธุรกิจเป็นเรื่องเฉพาะตัว

ถ้าคุณไม่ได้มีโค้ชที่เหมาะสมตอนเริ่มต้นธุรกิจ หนังสือเล่มนี้จะคอยเป็นโค้ชและเช็คลิสต์ให้คุณค่อย ๆ เดินไปกับโครงการที่คุณกำลังเริ่ม หรือแก้ปัญหาหลังจากธุรกิจเดินหน้าไปสักพัก

เริ่มจาก Entrepreneur’s Mindset ชุดความคิดของผู้ประกอบการ เป็นสิ่งแรกที่จะทำให้ธุรกิจเกิดขึ้นได้คือตัวของผู้ประกอบการและความคิดที่จะสร้างธุรกิจขึ้นมา

ในตอนนี้ผู้เขียนได้ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเช่น การทำธุรกิจเหมือนการวิ่งมาราธอน คำถามที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนเริ่มธุรกิจ คนแบบไหนไม่เหมาะเป็นเจ้าของธุรกิจ วิธีการเริ่มต้นสำหรับคนที่ไม่มีอะไร เป็นต้น

ขอยกตัวอย่างหัวข้อ คนแบบไหนไม่เหมาะเป็นเจ้าของธุรกิจ ผมขอสรุปออกมาสั้น ๆ นะครับ

เราทุกคนมีธุรกิจอยู่ในตัว แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเหมาะจะเป็นเจ้าของธุรกิจ การทำธุรกิจต้องการปัจจัยหลายอย่างมากกว่านั้นเช่น มุมมอง ความคิด ลักษณะนิสัย สไตล์การทำงาน การทำงานร่วมกับผู้อื่น การบริหารจัดการคน แม้แต่อุปนิสัยส่วนตัว ถ้าคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจแล้วมีอุปนัยส่วนตัวดังต่อไปนี้ต้องระวังให้มาก ๆ ครับ

  • เป็นคนไม่ตัดสินใจ

เพราะการตัดสินใจอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำธุรกิจ ถ้าต้องรอข้อมูลให้ครบ 100% แล้วค่อยตัดสินใจหรือไม่กล้ายอมรับความเสี่ยงเลย คุณไม่เหมาะที่จะทำธุรกิจครับ

  • เป็นคนไม่ยอมรับผิดชอบ

ในการทำธุรกิจนั้นไม่ว่าจะเกิดความผิดพลาดขึ้นมาเกิดกับอะไร คุณเป็นเจ้าของธุรกิจไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลย ลูกค้าต้องการคำอธิบายจากคนเป็นเจ้าของ ลูกน้องก็ต้องการการปกป้องจากเจ้าของเช่นกัน

  • มีเงินเป็นแรงจูงใจในการทำธุรกิจ

หวังรวยแต่ไม่อยากให้ เป็นสิ่งที่อันตรายมากเพราะคุณมิได้มีใจและรักในสิ่งที่จะทำ หวังแค่ทำอย่างไรให้ได้ผลประโยชน์และกำไรมากที่สุด พอเกิดอะไรก็ไขว้เขวได้โดยง่าย คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจได้คือคนที่เข้าใจและมีความอดทน ยอมเสียบางอย่างในระยะสั้นเพื่อประโยชน์ในระยะยาว

  • พวกสุดโต่งที่มองอะไรในแง่ดีเกินไป

หรือมองอะไรในแง่ร้ายเกินไป คือคิดว่าทุกอย่างมันยากไปหมด ขายไม่ดี กำไรไม่ดี คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจต้องมองอะไรตามความเป็นจริงและเดินทางสายกลางเสมอ

  • เป็นพวกจัดระเบียบชีวิตตัวเองไม่ได้

ไม่รู้จักการจัดลำดับความสำคัญ ทำอะไรงงไปหมด ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าต้องทำอะไรก่อนหรือหลัง เอกสารบนโต๊ะเต็มไปหมด

  • ไม่เคยมีบันทึกความสำเร็จของตัวเองเลย

คนที่ไม่เคยบันทึกความสำเร็จคือคนที่ไม่เคยทำอะไรสำเร็จเลยแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ความสำเร็จเพียงเล็กน้อยจะช่วยให้ให้ตัวเราและทีมมีกำลังใจ ให้รางวัลกับตัวเองและทีมอย่างสม่ำเสมอจะเป็นพลังบวกในการทำธุรกิจได้ครับ

  • เป็นคนไม่มีเพื่อน ไม่มี Connection

การทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน ถ้าคุณไม่มีเพื่อนฝูงแสดงว่าคุณไม่มีทางลัดอะไรมาช่วยคุณเลย คุณจะเหนื่อยกว่าปกติ

  • ยึดติตกับ Comfort zone

ความเคยชินยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง ทำให้คุณขาดความคิดที่จะทำสิ่งใหม่

  • เป็นคนเอาแต่ใจ ไม่สามารถตั้งกฎและพร้อมที่จะเคารพกฎที่ตั้งมาได้

ถ้าคุณเอาเงินจากธุรกิจมาจ่ายส่วนตัว นึกจะหยุดก็หยุด เมื่อธุรกิจเงินขาดมือก็เอาเงินตัวเองเข้ามาใส่ธุรกิจ เอาทรัพย์สินไปขาย คนที่ทำธุรกิจที่ดีนั้น จะตั้งกฎเพื่อความคุมตัวเองและมีวินัย ไม่ใช่ทำอะไรตามใจตัวเองอย่างที่หลายคนเข้าใจ

  • เป็นคนไม่รักษาคำพูด

การรักษาคำพูดเป็นสิ่งพื้นฐานของความดีงามที่มีอยู่ในโลก โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจถ้าคำพูดเชื่อถือไม่ได้ ธุรกิจจะมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไร


Other People in Our Business (คนอื่นที่อยู่รอบตัวเรา)

แน่นอนว่าการทำธุรกิจจะเกิดขึ้นด้วยเจ้าของธุรกิจคนเดียวไม่ได้ จะต้องเกิดขึ้นจากผู้คนหรือกลุ่มคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง ลูกค้า Supplier หรือหุ้นส่วน

ผมขอยกตัวอย่างตอน “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหุ้นส่วน”

  1. หนึ่งในตัวแปรหลักที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจว่าจะเจ๋งหรือเจ๊ง คือหุ้นส่วน
  2. หุ้นส่วนที่ดี คือคนที่เก่งต่างเรื่องกัน แต่มีความเชื่อและเป้าหมายในการทำธุรกิจที่เหมือนกัน แต่ธุรกิจส่วนมากชอบทำตรงกันข้าม
  3. หุ้นส่วนจะมีผลทางกฎหมายก็ต่อเมื่อมีการทำเอกสารทางกฎหมายเท่านั้น เช่น จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลแบบเป็นเรื่องเป็นราว หุ้นส่วนแบบปากเปล่าคือไม่มีการเป็นหุ้นส่วน เวลาเกิดปัญหาจะไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะออกเสียง หรือเรียกร้องอะไร เหมือนคำพูดที่ว่า หุ้นลม ได้ลม
  4. หุ้นส่วนมี 3 ประเภท คือ ลงเงิน ลงหัว และ ลงแรง ซึ่งแต่ละประเภทมีความสำคัญต่างกัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ และธุรกิจอาจจะเริ่มต้นหรือจบสิ้นโดยใครคนหนึ่งได้เช่นกัน
  5. คนที่ลงเงิน คือผู้ที่เป็นหุ้นส่วนใหญ่ของธุรกิจ การเป็นหุ้นส่วนใหญ่ไม่ได้แปลว่าจะเก่งกว่าคนอื่นและถือความคิดเป็นใหญ่ได้ ธุรกิจที่เจ๊งก็เพราะเอาตัวเองเป็นใหญ่ในเรื่องที่ตัวเองไม่ได้เก่ง ลงเงินแล้วต้องวางใจผู้ลงแรง และทำใจว่าเงินนี้หากเสียไปจะต้องไม่ต้องไม่เสียดาย ถ้าได้ทำทุกอย่างตามแผนอย่างดีแล้ว
  6. คนที่ลงหัว คือนักคิด นักมองโอกาส นักแก้ปัญหา แต่อาจไม่มีเวลาทำ หรือขาดเงินทุน อย่างที่บอกคือถ้าเห็นโอกาสแต่ไม่มีทุน ไม่มีใครช่วยทำ โอกาสนั้นก็ไม่เกิดขึ้นจริง คนคนนี้เป็นคนกำหนดทิศทางของธุรกิจ ควรจะเป็นคนแรกที่เห็นภาพอนาคตของธุรกิจเป็นอย่างไร รวมถึงแผนงานในอนาคตที่จะขยายหรือลดขนาดของธุรกิจ
  7. คนที่ลงแรง คือนักทำ ดูแลให้ธุรกิจเดินหน้าไปตามที่ตั้งใจ ธุรกิจจะรุ่งหรือร่วงขึ้นอยู่กับคนนี้เป็นส่วนใหญ่ เพราะทำงานด้วยตนเอง ได้สัมผัสกับปัญหาและใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด
  8. ในทางปฏิบัติ หุ้นส่วนบางคนไม่ได้ลงเงินจริงแต่ได้ % การถือหุ้นตอบแทนในฐานะเป็นผู้ทำงานหลัก กรณีแบบนี้ทุกคนต้องยินยอมแต่แรก แต่ผู้นั้นจะมีสิทธิตามกฎหมายทุกประการเพราะมีชื่อในฐานะผู้ถือหุ้น
  9. หุ้นใหญ่ไม่ใช่พระเจ้า หุ้นลงแรงไม่ใช่ว่าไม่มีสมอง การเคารพซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
  10. หุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิ์ในการทำธุรกิจพังคามือได้พอ ๆ กัน
  11. สำรวจวิธีการทำงานของตัวเองให้ชัดก่อนมองหาหุ้นส่วน เราอาจพบว่าเราจะเหมาะสมกว่าถ้าร่วมงานกับคนอื่นในลักษณะคู่ค้า
  12. การบริหารธุรกิจในชีวิตจริงจะยึดตามหลักประชาธิปไตยแบบ 1 หุ้น 1 เสียงไม่ได้ (แม้ทางกฎหมายจะกำหนดแบบนั้น) เพราะการบริหารและตัดสินใจต้องอยู่บนความจริง ความถนัดของหุ้นส่วนทีมงาน
  13. ลงหุ้นกันแล้ว ทำเอกสารข้อตกลงหุ้นส่วนให้เรียบร้อยตั้งแต่วันแรก เพราะนาน ๆ ไป เราจะลืมและมานั่งเถียงกัน
  14. ตกลงกันให้เรียบร้อยว่าใครจะลงเงินแค่ไหน จะมีลงเพิ่มหรือไม่ในกรณีใด
  15. เมื่อได้กำไร เอากำไรไปทำอะไรก่อน จะขยายกิจการหรือจ่ายคืนหุ้นส่วนในรูปปันผล
  16. หุ้นส่วนที่ดี คือหุ่นส่วนที่เคารพในความต่างของผู้อื่น เปิดใจรับฟังในความคิดเห็นจาคนที่ถนัดกว่า เข้าใจธุรกิจมากกว่า และกล้าออกความเห็นในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมา
  17. การมีหุ้นส่วนที่เริ่มจับกลุ่มย่อย คือสัญญาณร้ายของธุรกิจ
  18. หุ้นส่วนเป็นแล้วก็เลิกได้ ถ้ารู้สึกว่าทัศนคติและมุมมองในการทำธุรกิจเริ่มไม่ตรงกันแล้ว การแยกออกไปตั้งแต่แรกจะเป็นผลดีกว่าและเกิดความเสียหายน้อยกว่ากับทุกฝ่าย
  19. หุ้นส่วนที่เริ่มต้นมาทัศนคติตรงกัน ไม่ได้แปลว่าลูกหลานของหุ้นส่วนจะมีทัศนคติตรงกันเหมือนรุ่นพ่อแม่ แยกให้ออก
  20. สิ่งสำคัญอีกเรื่องที่หุ้นส่วนมักลืมตกลงกัน คือเราจะเลิกธุรกิจนี้อย่างไร ภายใต้สถานการณ์แบบไหนที่ธุรกิจกำลังจะเผชิญ เช่น เงินทุนหมดแล้ว หรือใครคนใดคนหนึ่งไม่อยากทำต่อ

การเลือกหุ้นส่วนเป็นเรื่องสำคัญอย่างที่หนังสือบอกไว้ เพราะการทำธุรกิจเป็นเรื่องระยะยาว การเลือกหุ้นส่วนก็เหมือนกับการเลือกคู่ชีวิต ถ้ารู้สึกไม่ใช่อย่าไปฝืนโดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ในการเริ่มทำธุรกิจ ถ้ารู้ก่อนแยกกันเร็วจะเป็นผลดีมากกว่า หรือหาหุ้นส่วนที่เป็นคู่ค้าอาจจะมีปัญหาน้อยกว่าก็ได้ครับ

ในบทอื่น ๆ ก็จะมีรายละเอียดที่ลึกชัดเจน เช่นเรื่อง เงินและทรัพย์สินของธุรกิจ แบรนด์และโมเดลธุรกิจ เทคนิคการตลาด เรื่องของคู่แข่งและการแข่งขัน ซึ่งกลั่นกรองจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน ซึ่งผมขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มทำธุรกิจ หรืออยู่ในช่วงธุรกิจติดหล่ม อาจเจอไอเดีย หรือแม้แต่กำลังให้มีแรกก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆได้ครับ