ฟังเนื้อหาผ่าน Indybook’s Podcast


ถ้าพูดถึง ศุ บุญเลี้ยง แฟนเพลงรุ่นใหญ่คงรู้จักเป็นอย่างดี ตัวผมเองชื่นชอบผลงานเพลงที่ชื่อว่า “เต็มใจให้” ซึ่งถือว่าเป็นเพลงประจำครอบครัวของผม เพลงนี้ปรากฏขึ้นมาเด่นชัดขึ้นในใจอีกครั้ง หลังจากผมได้สูญเสียน้องสาวด้วยโรคมะเร็ง ทำให้นึกถึงวันวานอันนานไกล ที่เรามักจะร้องเพลงนี้ด้วยกันขณะนอนมองดวงดาวและพระจันทร์ ก่อนที่จะผล่อยหลับไปทั้งคู่

หนังสือเล่มนี้ผมได้ฟังการรีวิวของ อ.นพดล จาก Podcast Nopadol’s story ทำให้รู้ว่าคุณ ศุ บุญเลี้ยง เป็นนักเขียนด้วย ส่วนตัวผมเป็นคนที่ชอบเรื่องการขีด ๆ เขียน ๆ อยู่เป็นทุนเดิม แต่ฝีมือยังไม่ค่อยเท่าไหร่ ต้องการพัฒนาทักษะการเขียนของตัวเองให้ดีขึ้น ก็ตัดสินใจสั่งซื้อจากเพจ กะทิกะลา ไม่กี่วันหนังสือเล่มนี้ก็ส่งมาถึงบ้านพร้อมกับหนังสือรวมเรื่องสั้น ฝันเอียง ๆ

เขียนด้วยใจคงไม่พอ มีความหมายอธิบายในชื่อหนังสืออยู่แล้ว คือแค่ใจอยากเขียนคงไม่ดีพอ ต้องอาศัยความรู้และการฝึกฝน

คำว่า “การทำขนม” และ “งานทำขนม” นั้นไม่เหมือนกัน
เช่นเดียวกับ “การเขียน” และ “งานเขียน” นั้นก็ไม่เหมือนกัน

การเขียนอาจจะเป็นแค่การเขียนบันทึกไว้อ่านคนเดียว เขียนเล่น ๆ ลงใน facebook เป็นบันทึกความจำ ก็ไม่จำเป็นต้องต้องให้ถูกหลักสละสลวยอะไร ก็ไม่มีใครว่า

แต่ถ้าต้องการทำเป็นงานอดิเรกหรืองานหลัก ก็ต้องถือว่าเป็นงาน
คนไทยชอบคิดว่าเราต้องทำอะไรด้วยใจ คือทำด้วยใจนั้นดีแน่ แต่บางทีก็ไม่พอ   เมื่อไม่พอก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมครับ

การเขียนสิ่งที่สำคัญคือคลังคำ เนื่องจากการเขียนเป็นศิลปะ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าคำไหนดีกว่าคำไหน ขึ้นอยุ่กับบริบทและเจตนาของผู้เขียนอย่างเช่น คำว่าแม่ อาจจะมีใจคำว่ามารดา , ผู้หญิงที่อยากกอดตลอดชีวิต หรือเมียพ่อ ก็แล้วแต่จะนำมาใช้ บางคำอาจจะหยาบ ดิบ เถือน แต่ถ้าใช้ให้พอเหมาะอาจจะได้อารมณ์ดี

คำในภาษาไทยบางคำแปลกพิศดาลเช่น ชอบปวดท้อง ไม่ใช่แปลว่าชอบ แต่แปลว่าบ่อย ๆ มากกว่า หรืออีกตัวอย่าง เหมือนคำถามที่ว่า “มีน้องหรือยัง” ซึ่งแปลว่ามีลูกหรือยัง

การจะมีคำมาใช้ให้เยอะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอ่านและค่อย ๆ สะสมศึกษาไปทีละน้อย

ความผิดพลาดพลั้งเผลอในการเขียนควรจะต้องระวังเช่น กักกันสินค้า ไม่ใช่การ กักตุนสินค้า รโหฐาน ไม่ใช่ที่ใหญ่โตมโหฬาร ซึ่ง รโหฐานคือที่ลับที่ส่วนตัวเล็ก ๆ

ดังนั้นต้องคอยศึกษาให้ดี แต่การเขียนก็มีผิดพลาดพลั้งเผลอกันได้ทั้งนั้น ถ้ามัวแต่กังวลมากไปก็ไม่ต้องเขียนกันพอดี เอาให้มันเข้าใกล้ความจริงที่สุด ผิดบ้างก็ค่อยปรับปรุงกันไป เพราะการผลิตผลงานยังมีอีกหลายขั้นตอนยังมีบรรณาธิการ คนตรวจอักษร ขึ้นอยู่กับว่าเป็นงานแบบไหน

วรรณศิลป์ในการเขียนคืออะไร ตัวอย่างเช่นเรารักผู้หญิงคนหนึ่งมากกว่าใคร ๆ ถ้าเขียนว่า รักมาก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ  โดยใส่ไม้ยมกรัว ๆ ในการบอกในสิ่งที่ต้องคิด บางทีคนอ่านอาจจะไม่ได้รู้สึกอย่างที่เรารู้สึก

ดังนั้นเราต้องมีวรรณศิลป์เข้ามาช่วยในการนำพาความคิด ความรู้สึก ให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อมากที่สุด

เช่นคำว่า พี่รักเจ้ายิ่งกว่าปลารักน้ำ , ขาดเธอนะขาดได้ แม้ไม่ขาดใจ แต่ขาดเธอไป หัวใจคงเต้นช้าลง  จะเกิดความรู้สึกพิเศษ เข้ามาในความรู้สึกของผู้รับสารเมื่อได้ยินหรือได้อ่าน

ดังนั้นวรรณศิลป์คือการนำภาษาที่มีอยู่จำกัด มาใช้เพื่อสื่อความรู้สึกไม่จำกัด

ขอยกอีกสักตัวอย่างจากหนังสือเล่มนี้เช่น ชายผู้มีเงาเป็นเพื่อน คงรู้สึกได้มากกว่าเขียนว่าชายคนนี้อยู่คนเดียวแบบทื่อ ๆ ครับ


โวหารสามารถแยกออกได้อยู่สี่ประการ

บรรยายโวหาร คือ การเล่า
พรรณนาโวหาร คือ การพร่ำพรรณนา
อธิบายโวหาร คือ การอธิบายนั่นแหละ
วิพากยโวหารคือการโต้แย้ง

การใช้บรรยายโวหารอย่างเช่น วันนี้ไปกินอาหารร้านหนึ่งอร่อย พนักงานบริการดี วันหลังจะมากินอีก และจะชวนเธอมาด้วยนะ

หรือ ฉันเข้าไปในร้านที่แอร์เย็นฉ่ำ ขนมเค้กหน้าตาดีส่งกลิ่นหอมตลบอบอวล ยิ่งกินกับไอศกรีมผสมเจลลี่เย็นชื่นจิต ช่างละมุนลิ้นยิ่งนัก รสชาติราวขึ้นสวรรค์ เนื้อเค้กละลายในปาก ไอติมกำซาบกระพุ้งแก้ม แอบนึกว่าเธอจะชอบไหมนะ คราวหน้าหากมีเธอมานั่งตรงโต๊ะริมหน้าต่างนี้ด้วย คงอร่อยกว่านี้

คนฟังหรือคนอ่านคงนึกภาพ จินตนาการตามเหมือนหลุดเข้าไปในร้านอาหารนั้นจริง ๆ นี่แหละ พรรณนาโวหาร ซึ่งเป็นอาวุธหลักของนักเขียนในเกิดมโนภาพ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เพราะใช้คำฟุ่มเฟือย คนอ่านรำคาญ เมื่อไหร่จะดำเนินเรื่องต่อไปเสียที….

ส่วนโวหารอื่น ๆ ก็มีความสำคัญลองไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือดูนะครับ


คำเปรียบเปรยหรือ อุปมาอุปไมย

เป็นเครื่องมือที่นักเขียนใช้และต้องใช้มากมาย เช่นคิดถึงราวกับว่าจะเหมาเครื่องบินไปหา
อีกอย่างที่อนุญาตให้นักเขียนใช้คือการใส่ชีวิตให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิตเช่น ใบไม้เริงระบำ หรือแสงแดดอ้อยอิ่งหยอกเย้ากับน้ำตก ทะเลเกรียวกราด เป็นต้น
ยังมีสำนวนที่ยืมคนอื่นมาใช้เช่น ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ตายไปก็ไม่ต้องมาเผาผี ถ้านำมาใช้บ่อย ๆ อาจจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกเอียนได้

หนังสือได้ยกตัวอย่างการเขียนเรียงความวันแม่แล้วเขียนว่า
แม่นี้มีบุญคุณที่ยิ่งใหญ่ จะเอาท้องฟ้ามาเป็นเป็นกระดาษก็คงจะพรรณนาไม่หมด  คนที่เขียนคนแรกโคตรเก่ง ช่างกินใจเหลือเกิน แต่ถ้านำไปใช้บ่อย ๆ ก็เกร่อ

โวหารที่บางโวหารหรือคนบางคนที่นำมาใช้บ่อย ๆ เช่นถ้านึกถึงคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็ยกตัวอย่าง สตีป จอบส์ แบบนี้ก็ซ้ำเยอะมากทำให้คนอ่านไม่รู้สึกอยากอ่านเพราะไม่ได้มีอะไรใหม่เลย

สำหรับนักเขียนที่เหนือชั้นนอกจากการวางเรื่องที่แตกต่างจากคนอื่นแล้ว ถึงแม้เขียนเรื่องที่ใกล้เคียงกับคนอื่น ก็ต้องสร้างสำนวณวิธีเล่าเรื่องที่เป็นสไตล์ของตัวเอง
เริ่มต้นอาจเขียนเลียนแบบสำนวนของคนอื่นก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน เช่นเขาเขียนเรื่อง เสื่อผืนหมอนใบ เราอาจจะเขียนเรื่องเสื่อผืนหมอนสองใบ

ยังมีการใช้ภาษาอีกแบบ หนังสือได้เรียกว่าการใช้ภาษาข้ามสายพันธ์ ต้องอาศัยใจกล้า ๆ เช่น รสชาติของลูกชิ้นซีดลง ซึ่งซีดมักนำไปใช้กับสีไม่ใช่รสชาติ แต่ผู้อ่านก็สามารถเข้าใจได้ อีกคำที่นำมาใช้บ่อย ๆ เช่น โดนครูดุเสียงเขียว เขียวเป็นสีแต่นำมาใช้ให้เข้าใจได้


การเขียนหนังสือต้องมี พล็อต คือเส้นเรื่อง โครงเรื่อง เวลาอ่านเสร็จ หรือจะบอกเล่า ก็ต้องถามว่ารู้เรื่องไหม นี่เป็นเรื่องอะไร นี่แหละคือพล๊อต ในขณะที่ ธีม (Theme) คือ “แก่นของเรื่อง” หัวใจสำคัญของเรื่อง ในเรื่องราวอาจเขียนให้จบว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า นั่นแหละแก่น

บางเรื่องสิ่งที่อยากจะเล่ากับเรื่องที่อยากจะบอกเป็นคนละเรื่องไม่ตรงไปตรงมา เช่น
เพื่อนอีกคนชอบบ่นว่า ต้องไปวัดคุยกับพระ ต้องเตรียมงานทอดกฐิน ต้องเดินทางไปกับญาติโยม ต้องไปช่วยเหลือวัด เรื่องที่เขาบอกดูเหมือนว่าจะบอกว่ายุ่งจัง แต่สิ่งที่เค้าพยายามสื่อนั่นคือ ฉันเป็นคนใจบุญ

อาจจะพูดได้ว่าเป็นความซับซ้อนของมนุษย์ที่ผู้เขียนต้องเข้าใจ

เรื่องเล่าที่มีเสน่ห์ จะสอดคล้องกับหลักการ แต่ ตรรก ขยัก ขยาย ขยี้ ขจัด ขัดเกลา

โดยพื้นฐานของการเล่า น่าจะเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ถ้าเล่าว่ามีนักเรียนตื่นเช้า อาบน้ำ กินข้าว ไปโรงเรียนแล้วก็กลับบ้าน คงจะไม่มีใครอ่านเพราะมนุษย์เรามีความสนใจความขัดแย้งมากว่าเรื่องปกติ

ความสมจริงในงานเขียนหรือ ตรรก คือความมีเขียนมีเหตุผล ในโลกของการเขียนมีหลัก ๆ อยู่สองแบบ คือ เรื่องจริง กับ เรื่องแต่ง เรื่องจริงจะถูกเขียนจากประสบกาณ์ของผู้เขียน สิ่งที่เขียนอาจจะถูกใครหลอกมาก็ไม่มีใครรู้ แต่เขาเขียนเล่าตามจริง แสดงทัศนะของตัวเองจริง

ส่วนเรื่องที่แต่งขึ้น อาจจะเกิดจากจินตนาการ บางคนอาจจะเอาเรื่องจริงมาดัดแปลงแต่งเติม ก็นับว่าเป็นเรื่องแต่ง แต่ใช่ว่าจะแต่งได้ตามใจชอบ มันแอบมีการบังคับอยุ่เหมือนกัน เช่นแต่ให้ตัวละครเป็นคนจน เช้ากินพิซซ่า บ่ายกินไก่เกาหลี เย็นกินเนื้อย่าง มันก็ขัดกับความจนที่มี

แม่แต่นิทานก็ต้องมีความสมจริงในแบบของนิทานเช่นกัน

ตัวอย่างของการ ขยัก ขยาย ขยี้ที่ผมชอบมากในหนังสือเล่มนี้
ผู้หญิงคนหนึ่ง สวยจนใคร ๆ เหลียวหลัง สวยจนักดนตรีตีกลองไม่ไหว สวยจนโลกหยุดหมุน สวนจนคนทั้งงานหันไปมองเป็นตาเดียว เธอน่าจะสวยที่สุดในงานแล้วถ้าแม่เธอไม่เดินเข้ามา
ไอที่แม่เดินตามเข้ามานั่นแหละ พอจะถึงว่าเป็นการขยัก เก็บของดีไว้ทีหลัง สิ่งที่จะบอกคือแม่สวยแต่เล่าเรื่องลูก

การจะรู้ตั้งแต่แรกว่า เราใช้ภาษาฟุ่มเฟือย หรือบอกเล่าเรื่องเยอะเกินไป บางทีมันก็ไม่ต้องทันสังเกตตั้งแต่ตอนแรก พอเขียนเสร็จก็ต้องมาสำรวจตรวจตรา ขจัดบางส่วนออกไปบ้าง
เปรียบเสมือนรีดน้ำ รีดไขมันออกจากเรือนร่าง ถ้าตัดแล้ว ได้ความหมาย ได้อารมณ์ และได้ใจความเหมือนเดิม ก็แปลกว่าตรงนั้นเกินมา


มุมมองในการเขียนก็มีหลากหลาย เช่นมุมมองของพระเจ้า เราจะทราบพฤติกรรมของตัวละครทั้งข้างนอก และข้างใน
ถ้าเป็นเรื่องกระต่ายกับเต่าอาจจะใช้มุมมองของกระต่าย มุมมองของเต่า หรือกรรมการ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการเขียนว่าต้องการอะไร

ตัวประกอบหรือฉากประกอบก็ช่วยให้การสื่อสารชัดเจนมีชีวิตชีวาขึ้น

เช่นเรื่องสั้นชื่อ “กลับบ้าน” (Going Home) ของ Pete Hamill
เรื่องที่ตัวเอกออกจากคุก นั่งรถกลับบ้านมา เขาเขียนจดหมายจากในคุกมาบอกกับเมียว่า ถ้ารอได้ให้ผูกผ้าสีเหลืองไว้หน้าบ้าน ถ้ามีคนใหม่ ไม่รอเขาก็ไม่ว่า แค่อย่าผูกผ้าที่ต้นไม้ เขาผ่านมาถ้าไม่เห็นผ้าเหลือง ก็จะผ่านเลยไป
เรื่องเล่านี้ก็สะเทือนใจแล้ว
แต่แทนที่จะให้หนุ่มคนนี้นั่งรถบัสมาลำพัง กลับบรรจุคนอื่นนั่งมาด้วย ไม่ได้นั่งมาเฉย ๆ แอบเห็นแอบมองว่า ท่าทางเขาเองเศร้า แล้วเขาดูโดดเดี่ยว ซีดโซ
พอถามเข้า เขาบอกว่าเพิ่งออกจากคุก ตกลงรหัสกับภรรยาไว้ ทีนี้แหละ พอรถเข้าโค้ง แทนที่ตัวละครเอกจะมองต้นไม้หน้าบ้านคนเดียว คนบนรถก็ช่วยกันมอง คนอ่านก็ช่วยกันลุ้น
พอเห็นผ้าสีเหลืองผูกว่อนปลิวสลอนไปทั้งต้นไม้หลายสิบผืน คนบนรถก็ยืนปรบมือ โห่ร้อง ส่งเขาลงรถไป อรรถรสก็เกิดกับคนอ่านน้ำตาแทบไหลนอง


การเรียนเขียน อาจจะมีหลักคิด ทฤษฎี และวิธีเรียน หลากหลายวิธี  แต่วิธีที่แนะนำคือการเลียน

การเลียนคือการเลือกเรื่องที่เราเคยอ่านชอบประทับใจ ก็ให้เอาชิ้นงานนั้นมาชำแหละ แล้วลองเขียนเลียนตามไป ตอนแรกอาจจะไม่เข้าใจว่าเราชอบงานเขียนนี้เพราะอะไรแต่พอลองเลียนก็จะพอเข้าใจกลไกบางอย่างเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสไตล์ของตัวเองในทีสุด


สิ่งสำคัญสำหรับการเป็นนักเขียนที่ดีคือการอ่าน การอ่านทำให้เรานิ่ง หนังสือในมือ มันต้องการความเงียบ เวลาอ่านเราก็จะใช้ความคิดไปด้วยทำให้มีเวลาสนทนากับตัวเอง ได้จินตนาการ แม้เราจะนั่งนิ่งแต่มีการเคลื่อนไหวภายในมากมาย

แน่นอนว่าการหาความรู้ที่ดีที่สุดคือการทดลองและลงมือทำ แต่เราคงไม่มีเวลามากพอที่จะลองผิดลองถูกทุกอย่างได้ การอ่านจึงสำคัญและเป็นฐานให้เราสามารถเขียนได้ดีขึ้น หนังสือเล่มนี้จะบอกเคล็ดมากมายที่ช่วย